วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

แนวคิดเกี่ยวกับภาวะผู้นำ

แนวคิดเกี่ยวกับภาวะผู้นำ
           ปัจจุบันการบริหารงานในองค์การไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเอกชนก็ตาม จะต้องเกี่ยวข้องกับหลักการบริหาร อันได้แก่ การวางแผน การจัดองค์การ การจัดเจ้าหน้าที่ การอำนวยการหรือการสั่งการ การประสานงาน การควบคุม และการประเมินผลงาน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นภารกิจหน้าที่ และนอกจากนี้ องค์การต่าง ๆ ยังมีแนวโน้มที่จะขยายและพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งตามกระแสของการเปลี่ยนแปลงในสังคมโลกาภิวัฒน์ (globalization) ปรากฏการณ์เช่นนี้ ภาวะความเป็นผู้นำ (leadership) ของผู้บริหารองค์การทุกระดับจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องมี และนำมาเพื่อโน้มน้าวให้บุคคลทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ (efficiency) โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์การที่มีขนาดใหญ่ สายการบังคับบัญชายาวมาก มีความสลับซับซ้อนของงานสูงและเป็นงานบริการที่ต้องเกี่ยวข้องกับประชาชนและผู้รับบริการ ตลอดจนหน่วยงานอื่นข้างเคียง ผู้บริหารองค์การจะใช้ความรู้เฉพาะด้านหรือใช้ศาสตร์ทางการบริหารอย่างเดียวจึงไม่พอ ดังนั้นการบริหารองค์การให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพได้อย่างน่าภูมิใจนั้น ผู้บริหารจะต้องใช้ศิลป์ควบคู่กับศาสตร์ ในการบริหาร    อย่างกลมกลืนด้วย (สมพิศ  สุขแสน, 2554, หน้า 1)
          1. ความหมายของภาวะผู้นำ
          การทำงานให้มีประสิทธิภาพนั้น ทุกองค์การต่างยอมรับร่วมกันว่า จะต้องอาศัยกลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์หลายอย่าง ทั้ง งบประมาณ บุคลากร การอำนวยการ เครื่องมืออุปกรณ์ สถานที่ทำงาน ฯลฯ       แต่สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือต้องอาศัยการมี "ภาวะผู้นำ" (leadership) ที่ดี เพราะผู้นำเปรียบเสมือนเป็นนายท้ายเรือที่จะนำพารัฐนาวาให้ไปถึงฝั่งหรือสู่จุดหมายปลายทางได้โดยสวัสดิภาพ ซึ่งมีผู้ให้ความหมายเกี่ยวกับภาวะผู้นำไว้หลายทัศนะ ดังเช่น
          นฤมล  นามเอี่ยม (2550, หน้า 27) ได้ให้ความหมายของภาวะผู้นำ คือ บุคคลที่ได้รับแต่งตั้งอย่างเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ ซึ่งผู้นำไม่จำเป็นต้องเป็นหัวหน้าหรือผู้บริหาร แต่เป็นบุคคลที่สมาชิกในกลุ่มนั้น   ให้การยอมรับ มีอิทธิพลในการโน้นน้าวจูงใจผู้อื่นปฏิบัติตามความต้องการหรือคำสั่งของตน มีการใช้อิทธิพลต่อบุคคลในหน่วยงาน มีการประสานงานร่วมกัน เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมายขององค์การนั้น
            ปราณี  อธิคมานนท์ (2550, หน้า 18) กล่าวว่า ภาวะผู้นำ หมายถึง คุณลักษณะของบุคคลที่แสดงออก       เพื่อสร้างสรรค์หรือสร้างศรัทธาและสร้างความกลมเกลียว ความร่วมมือร่วมใจให้เกิดขึ้น ในระหว่างผู้ร่วมงานหรือผู้ตาม เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปในทิศทางที่ต้องการ บรรลุตามวัตถุประสงค์ขององค์กรนั้น ๆ
          ฉวีวรรณ  จันทร์เม่ง (2552, หน้า 20) กล่าวว่า ภาวะผู้นำ คือ คุณลักษณะของบุคคลที่แสดงออกในการสร้างสรรค์หรือปลูกฝังศรัทธา ความกลมเกลียว ความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ให้เกิดขึ้นระหว่างผู้ร่วมงาน เพื่อนำองค์กรก้าวไปสู่ความสำเร็จในจุดมุ่งหมายที่วางไว้
          สมพิศ  สุขแสน (2554, หน้า 1) กล่าวว่า “ภาวะผู้นำ” (leadership) หมายถึง กระบวนการหรือกิจกรรมในการสร้างอิทธิพล จูงใจผู้ใต้บังคับบัญชาหรือกลุ่ม เพื่อให้เกิดความพยายามในการทำงานร่วมกันโดยให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ ในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง
          เนลสัน และ ควิก (Nelson & Quick, 1997, p. 346) ให้ความหมายของภาวะผู้นำ (leadership) ว่า หมายถึง กระบวนการในการแนะแนวและนำทางพฤติกรรมของคนในสภาพของการทำงาน Gibson ในเชิงปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันของสมาชิกในกลุ่ม โดยมีผู้นำเป็นตัวแทนในการเปลี่ยนแปลง เป็นบุคคลที่มีอิทธิพลต่อบุคคลอื่น ๆ ในกลุ่ม ภาวะผู้นำจึงเกี่ยวข้องกับการใช้อิทธิพลและปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เป็นตัวแทนของการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อพฤติกรรมและการปฏิบัติงานของสมาชิกคนอื่นในกลุ่ม ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงนั้นต้องมุ่งไปสู่การบรรลุเป้าหมายของกลุ่มด้วย
          บาส (Bass, 1985, p. 545) ให้ความหมายของภาวะผู้นำว่า คือ กระบวนการเปลี่ยนแปลงผู้นำต้องเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติงานของผู้ตาม ต้องได้ผลเกินเป้าหมายที่กำหนด ทัศนคติ ความเชื่อมั่น และความต้องการของผู้ตามต้องได้รับการเปลี่ยนแปลงจากระดับต่ำไปสู่ระดับที่สูงกว่า
          จากความหมายของภาวะผู้นำ ที่นักวิชาการทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศให้ไว้ สามารถสรุปความหมายภาวะผู้นำได้ว่า ภาวะผู้นำ คือ กระบวนการหรือกิจกรรมในการสร้างอิทธิพล จูงใจผู้ใต้บังคับบัญชาหรือกลุ่ม ในการสร้างสรรค์หรือปลูกฝังศรัทธา ความกลมเกลียว ความร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ เพื่อให้เกิดความพยายามในการทำงานร่วมกันโดยให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง
          1.2 ความสำคัญของภาวะผู้นำ
          ในการบริหารงานขององค์การภาครัฐ นอกจากจะมีการแบ่งระดับของการปฏิบัติงานแล้ว ยังมีการแบ่งส่วนของงานออกเป็นส่วนย่อย ๆ เพื่อสะดวกในการทำงานอีก และส่วนย่อย ๆ นี้ ซึ่งเราอาจเรียกว่า แผนก ฝ่าย หรือกลุ่มงานก็แล้วแต่ ทุกส่วนย่อยขององค์การจะต้องมีผู้นำหรือหัวหน้างาน ซึ่งถือว่าเป็นผู้บริหารระดับต้น ที่จะต้องเกี่ยวข้องกับผู้ปฏิบัติงานโดยตรง และเป็นผู้รับนโยบายหรือแนวทางปฏิบัติมาจากผู้บริหารระดับสูงขึ้นไป เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ขององค์การผู้นำหรือหัวหน้างานจะต้องมีบทบาทหน้าที่หลายประการทั้งหน้าที่ที่มีต่อองค์การ คือ บริหารงานในองค์การให้มีประสิทธิภาพสูงในทุกด้าน รักษาเสถียรภาพขององค์การ และพัฒนาองค์การให้มีความเจริญก้าวหน้า นอกจากนั้นยังต้องมีหน้าที่เป็นผู้เชื่อมประสานระหว่างองค์การกับหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง และเป็นสัญลักษณ์หรือตัวแทนขององค์การอีกด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่า ผู้นำมีหน้าที่ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ
          พรทิพย์  อัยยิมาพันธ์ (2547, หน้า 68) กล่าวว่าภาวะผู้นำมีบทบาทที่สำคัญอย่างมาก โดยแบ่งอย่างกว้าง ๆ ออกเป็น 4 ประการ ได้แก่
          1. การกำหนดแนวทางหลัก (path finding) ผู้นำควรเริ่มต้นด้วยการกำหนดเป้าหมายและแนวความคิดที่ชัดเจน บทบาทดังกล่าวจะช่วยให้ผู้นำสร้างแผนงานแม่แบบ (blueprint of action) ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการก่อนจะลงมือปฏิบัติตามแผน นอกจากนั้น ไม่เพียงแต่ต้องรู้ถึงวิธีการกำหนดทิศทางและเป้าหมายเท่านั้น แต่ผู้นำต้องได้รับการสนับสนุนและความมุ่งมั่นจากพนักงาน ในการบรรลุถึงเป้าหมายด้วย ผู้นำต้องมีความสามารถนำให้ผู้อื่นมีส่วนร่วมในการสร้างพันธกิจ (mission) วิสัยทัศน์ (vision) และสื่อสารอย่างชัดเจนถึงความแตกต่างและผลประโยชน์ที่พนักงานจะได้รับจากความสำเร็จในอนาคต อีกทั้งยังสามารถทำให้พนักงานมีแรงจูงใจและรู้สึกตื่นเต้นกับทิศทางใหม่นี้ด้วย
          2. การสร้างระบบการทำงานที่มีประสิทธิผล (aligning) การสร้างระบบการทำงานที่มีประสิทธิผลหรือการทำให้องค์การดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน คือการลงมือสร้างแผนหลักที่กำหนดขึ้นในขั้นตอนที่หนึ่ง      ทุกระดับชั้นขององค์การควรมีการดำเนินการไปในทิศทางเดียวกันเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์เดียวกัน ในฐานะผู้นำต้องเปลี่ยนแปลงระบบการทำงาน ขั้นตอนการทำงาน และโครงสร้างองค์การให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายขององค์การที่ได้วางไว้แล้ว
          3. การมอบอำนาจ (empowering) หากผู้นำมีการมอบอำนาจให้แก่พนักงานอย่างจริงจังจะทำให้บรรยากาศในการทำงานมีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน การสื่อสารระหว่างบุคคลและระหว่างกลุ่มเกิดประสิทธิผลและเกิดผลลัพธ์ใหม่ ๆ ที่สร้างสรรค์ ซึ่งมาจากการที่สมาชิกของกลุ่มหรือพนักงานสามารถแสดงความคิดเห็นและศักยภาพของตนได้อย่างอิสระ โดยผู้นำต้องสร้างสภาวะที่จะกระตุ้นการสร้างเสริมและปลดปล่อยความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ความสามารถพิเศษเฉพาะตัว ความสามารถ  และศักยภาพที่มีอยู่ในบุคคลทุกคน วิธีการนี้จะช่วยให้บุคคลสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้นในองค์การ
          4. การสร้างตัวแบบ (modeling) หัวใจของการเป็นผู้นำคือต้องสร้างความน่าเชื่อถือ เพราะไม่เพียงแต่รู้ว่าจะต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างไรเท่านั้น แต่ผู้นำยังต้องมีคุณสมบัติของผู้นำที่ดีด้วย กล่าวคือต้องเข้าใจถึงความสำคัญของดุลยภาพระหว่างคุณลักษณะ (characteristics) กับความรู้ความสามารถ (competence) เพราะไม่ว่าบุคคลจะมีความสามารถเพียงใดก็ไม่สามารถจะเป็นผู้นำที่แท้จริงได้ หากปราศจากซึ่งคุณลักษณะ  ที่เหมาะสม
          สมพิศ  สุขแสน (2554, หน้า 5) ได้ให้ความสำคัญของผู้นำไว้ดังนี้
          1. เป็นตัวแทนขององค์การทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำระดับใดย่อมจะต้องเป็นตัวแทนขององค์การในด้านการตัดสินใจ การประชาสัมพันธ์ การประสานงานในองค์การ การควบคุมดูแลอำนวยความสะดวก ตลอดจนการติดต่อสื่อสารกับบุคคลหรือหน่วยงานภายนอกองค์การ อาทิ เปิด-ปิดงาน เป็นประธานงานพิธีหรืองานมงคลต่าง ๆ
          2. ช่วยประสานงานภายในองค์การ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำหรือหัวหน้าจะต้องทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย ประนีประนอม ประสานความแตกแยกหรือเป็น "กันชน" ระหว่างความขัดแย้งของบุคคล  ในองค์การ
          3. สร้างบรรยากาศให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในองค์การ ถ้าผู้นำสามารถสร้างบรรยากาศเช่นนี้ได้ในที่ทำงาน ย่อมทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเกิดความร่วมใจในการทำงาน มีความรักและความผูกพันต่องานและองค์การ ผลงานจะออกมามีประสิทธิภาพสูง และการสร้างบรรยากาศในที่ทำงาน เช่น วางตัวเป็นผู้ร่วมงานมิใช่เป็นนาย ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปรึกษาหารือได้ เสนอแนะความคิดเห็นได้ หรืออาจมีสัญลักษณ์ร่วมกัน เช่น สัปดาห์ละ 1 วัน ให้ทุกคนใส่เสื้อผ้าพื้นเมืองสีเดียวกันหรือจัดงานแข่งขันกีฬาเชื่อมสัมพันธไมตรีปีละครั้ง เป็นต้น
          4. ทำการบริหารงานในองค์การตามเป้าหมายที่ตนเองรับผิดชอบโดยตรง เช่น เป็นผู้วางนโยบายหรือวางแผนจัดองค์การ จัดบุคคลเข้าทำงานตามความเหมาะสม อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานประสานงาน ติดตามควบคุมและประเมินผลการปฏิบัติงาน
          5. ทำหน้าที่ให้คุณให้โทษแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา ผู้ที่เป็นผู้นำหรือหัวหน้าจะต้องสามารถมีอำนาจในการให้คุณและโทษแก่ลูกน้องได้ มิฉะนั้นแล้วจะขอความร่วมมือจากลูกน้องมิได้ เช่น ถ้าลูกน้องทำดีมีผลงานก็ควรจะให้กำลังใจหรือตอบแทนน้ำใจและความดีตามความเหมาะสม อย่าฉกฉวยความดีหรือผลประโยชน์จากลูกน้อง ในทางตรงกันข้ามลูกน้องที่ขาดความรับผิดชอบขาดความร่วมมือ กระทำผิดวินัยหรือทำให้เกิดความเสียหายต่อองค์การอย่างจงใจ ตักเตือนแล้วก็ยังมีพฤติกรรมไม่ดีขึ้น ผู้นำไม่ควรละเลย จะต้องพิจารณาลงโทษหนักเบาตามระเบียบ เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงย่างแก่บุคคลอื่น
          6. ทำหน้าที่ให้คำแนะนำปรึกษาหารือและแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชา หัวหน้าจะต้องมีความรู้ความสามารถในงานที่ตนรับผิดชอบ เมื่อลูกน้องเกิดความไม่เข้าใจในการปฏิบัติงานหรือเกิดอุปสรรคในการทำงาน จะต้องไม่ดูดาย และหาวิธีการช่วยแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงหรือให้ คำแนะนำที่เหมาะสม เพื่อให้เขาสามารถดำเนินการต่อไปได้
          เครช และ บัลลาช (Krech & Ballauhy, 1998, p. 154) ให้แนวคิดเกี่ยวกับบทบาทความสำคัญ และหน้าที่ของผู้นำไว้ดังต่อไปนี้
          1. ผู้นำในฐานะผู้บริหาร (The leader as executive)
          2. ผู้นำในฐานะนักวางแผน (The leader as planner)
          3. ผู้นำในฐานะผู้กำหนดนโยบาย (The pleader as policy)
          4. ผู้นำในฐานะผู้เชี่ยวชาญ (The leader as expert)
          5. ผู้นำในฐานะตัวแทนติดต่อกับบุคคลภายนอก (The leader as external group)
          6. ผู้นำในฐานะผู้ควบคุมความสัมพันธ์ของสมาชิกกลุ่ม (The leader as controller of internal relation)
          7. ผู้นำในฐานะผู้ให้คุณให้โทษ (The leader as survey of rewards and punishment)
          8. ผู้นำในฐานะคนกลางหรือผู้ตัดสิน (The leaders as arbitrator and mediator)
          9. ผู้นำในฐานะเป็นบุคคลตัวอย่าง (The leaders as exemplary)
          10. ผู้นำในฐานะสัญลักษณ์ของกลุ่ม (The leaders as symbol of the group)
          11. ผู้นำในฐานะผู้แทนรับผิดชอบ (The leaders as substitute for individual
 responsibility)
          12. ผู้นำในฐานะผู้มีอุดมคติ (The leaders as ideologist)
          13. ผู้นำในฐานะบิดา (The leaders as father figure)
          14. ผู้นำในฐานะรับผิดชอบแทน (The leaders as scapegoat)

จากความสำคัญของภาวะผู้นำที่นักวิชาการทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศให้ไว้ สามารถสรุปความสำคัญได้ว่า ภาวะผู้นำมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะจะเป็นกลไกลที่สำคัญในการกำหนดเป้าหมายและแนวความคิดที่ชัดเจน บทบาทดังกล่าวจะช่วยให้ผู้นำสร้างแผนงานแม่แบบ (blueprint of action) ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการก่อนจะลงมือปฏิบัติตามแผน นอกจากนั้นแล้ว สามารถนำให้ผู้อื่นมีส่วนร่วมในการสร้างพันธกิจ (mission) วิสัยทัศน์ (vision) และสื่อสาร ช่วยให้การสร้างระบบการทำงานที่มีประสิทธิผลหรือการทำให้องค์การดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน กระตุ้นการสร้างเสริมและปลดปล่อยความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ สร้างบรรยากาศให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายในองค์การ ถ้าผู้นำสามารถสร้างบรรยากาศเช่นนี้ได้ในที่ทำงาน ย่อมทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเกิดความร่วมใจในการทำงาน มีความรักและความผูกพันต่องานและองค์การ ผลงานจะออกมามีประสิทธิภาพสูง 
ขอขอบคุณเจ้าของข้อมูลที่ใช้เป็นแหล่งอ้างอิง ซึ่งใช้เป็นการทดลองทำบล็อก

ไม่มีความคิดเห็น: